logo
image

icon-travel-2 หลงเสน่ห์พม่า ที่มัณฑะเลย์ – มิงกุน

หลงเสน่ห์พม่า ที่มัณฑะเลย์ – มิงกุน

พฤศจิกายน 29, 2019
แชร์ :

ปฏิเสธไม่ได้เลยหากพูดถึงประเทศพม่า เราก็จะนึกถึงเมืองย่างกุ้งเป็นอันดับแรก ต่อมาเมืองที่คุ้นหู ก็คือเมืองหงสาวดี ที่จะได้ยินตลอดผ่านทางละคร หรือหนังภาพยนต์อิงประวัติศาสตร์ที่นำมาฉายให้เราได้ชมกัน แต่ครั้งนี้จะพาทุกท่านขึ้นมาภาคเหนือของทางพม่ากันบ้าง ที่นี่ก็คือเมืองมัณฑะเลย์ ราชธานีสุดท้ายของกษัตริย์พม่า และแถมด้วยหมู่บ้านมิงกุน ที่มีระฆังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่นั่นด้วย มนต์เสน่ห์ที่น่าค้นหาไม่แพ้กับเมืองย่างกุ้ง

มาเริ่มกันที่เมืองมัณฑะเลย์กันก่อนนะคะ เป็นเมืองหลวงที่มีอายุเพียง 28 ปี ถือเป็นราชธานีสุดท้ายของระบบกษัตริย์พม่า ปัจจุบันเมืองนี้ถือเป็นถือเป็นเมืองใหญ่อันดับสอง รองมาจากเมืองย่างกุ้ง ตั้งอยู่ใจกลางของประเทศพม่า มีแม่น้ำอิรวดีทอดผ่านตัวเมือง และยังเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญทางตอนเหนือของประเทศพม่าด้วย ทั้งนี้ก็เพราะเคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อน จึงทำให้มีการนำผังเมืองอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว มาสร้างเมืองที่นี่ โดดยมีลักษณะเป็นตาราง ถนนตัดกันไปมาเป็นบล็อกสี่เหลี่ยม และตั้งชื่อถนนเป็นตัวเลข จำง่าย และง่ายต่อการเดินทางด้วยค่ะ มาเริ่มแนะนำไฮไลท์แต่ละที่ของเมืองมัณฑะเลย์ตั้งแต่วันแรกที่เรามาเลยนะคะ

ครั้งนี้เราเหิรฟ้ามากับสายการบิน Myanmar Airways (8M) สายการบินประจำชาติของพม่า ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ในการเดินทาง จากกรุงเทพ – มาถึงมัณฑะเลย์ ไฟล์ทของเรามาถึงก็เกือบจะ 4 โมงเย็น จากสนามบิน เดินทางเข้าสู่ตัวเมืองมัณฑะเลย์ ก็ใช้เวลาสักประมาณ 45 นาที เราเลยตีขึ้นเขาไปมพระอาทิตย์ตกดินที่ มัณฑะเลย์ฮิลล์ (Mandalay Hill) กันเลยค่ะ

MYANMAR AIRWAY (8M)

เขามัณฑะเลย์ฮิลล์ (Mandalay Hill) ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพระราชวัง เขาลูกนี้สูง 240 เมตร ซึ่งเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามที่สุดของเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งอยู่บนยอดเขา สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองมัณฑะเลย์เกือบทั้งเมือง เราเปลี่ยนขึ้นรถสองแถวเล็ก ใช้ในการขึ้นเขา เนื่องจากว่าทางขึ้นเขาค่อนข้างจะเล็ก และชัน นั่งรถสองแถวแระมาณ 10 นาที ก็ถึงบนยอดเขาแล้วค่ะ แต่ถ้าหากไม่นั่งรถสองแถวขึ้นมา ก็สามารถเดินเท้าขึ้นมาตามทางบันไดได้ จำนวน 1,729 ขั้น ทางขึ้นจะมีสิงห์ 2 ตัว ระหว่างทางเดินขึ้นบันไดมานั้น ก็จะมีปูชนียวัตถุให้สักการะบูชาเป็นระยะๆ และมีร้านค้าขายของที่ระลึก ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม หรือแม้แต่ปูชนียวัตถุให้สักการะบูชาด้วย

ยอดเขามัณฑะเลย์ และ วิหารซูตอง (Su Taung Paya)

พอขึ้นมาถึงด้วนบนยอดเขามัณฑะเลย์ ก็จะนำทุกท่านไปชมวิวพระอาทิตย์ตก บนวิหารซูตอง (Su Taung Paya) ภายในวิหารแห่งนี้จะประดิษฐานพระพุทธเจ้าเอาไว้ด้วย ซึ่งด้านบนวิหารเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นเมืองมัณฑะเลย์ได้แบบ 360 องศา และยังมองเห็นแม่น้ำอิรวดีที่ไหลทอดผ่านตัวเมืองอีกด้วย ระหว่างรอชมพระอาทิตย์ตก ก็เดินรอบวิหารสักการะบูชาพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ ตามความเชื่อของชาวพม่าที่ว่า พระพุทธเจ้ามีทั้งหมด 4 พระองค์ค่ะ

วัดกุโสดอ (Kuthodaw Pagoda)

ลงจากเขามัณฑะเลย์ฮิลล์แล้ว เราก็มาต่อกันที่วัดที่เก็บพระไตรปิฎก นั่นก็คือ วัดกุโสดอ (Kuthodaw Pagoda) อยู่ไม่ไกลจากทางขึ้นเขามัณฑะเลย์นัก และวัดนี้เปิดให้เข้าชมได้จนถึง 3 ทุ่ม เราจึงมาแวะเยี่ยมชมกันได้เลยค่ะ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1859 โดยพระเจ้ามินดง เพื่อใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกจากการสังคายนา ครั้งที่ 5 โดยการสร้างมณฑปสีขาวครอบไว้ เพื่อดูแลรักษาพระไตรปิฎกให้คงอยู่จนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน ในช่วงที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกนั้น ทีการนิมนต์พระสงฆ์ถึง 2,400 รูป และใช้เวลาเกือบ 6 เดือน กว่าจะเสร็จในการจารึกพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ ลงบนแผ่นหินอ่อน 729 แผ่น รวมแล้วก็ 1,428 หน้า ก่อนที่จะสร้างมณฑปสีขาวครอบไว้ ถือได้ว่าเป็นพระไตรปิฎกเล่มใหญ่ที่สุดในโลก และที่สำคัญ เป็นครั้งแรกในประวัตศาสตร์ที่มีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี บรรยากาศรอบวัดจะเต็มไปด้วยมณฑปสีขาว และมีต้นพิกุลอยู่โดยรอบทำให้ดูร่มรื่น บางต้นมีอายุเก่าแก่กว่า 250 ปี หลังจากชมวัดกุโสดอ แล้วก็พาทุกท่านไปทานอาหารค่ำ มื้อแรกที่มัณฑะเลย์ มื้อนี้เป็นร้านอาหารจีน แต่ก็ยังมีกลิ่นอายความเป็นพม่าปนอยู่ด้วย รับรองรสชาติอาหารถูกปากแน่นอนค่ะ

ภัตตาคารอาหารจีน ร้าน Golden Duck Restaurant หลังจากอิ่มท้องกันแล้วก็เดินทางเข้าโรงแรมที่พักกันเลย ทริปนี้เราพักกันที่ โรงแรม Greatwall Hotel ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เดินทางได้อย่างสะดวกสบาย อยู่ห่างจากวัดพระมหามุนี เพียง 5 นาทีเท่านั้นค่ะ

โรงแรม Greatwall Hotel

มิงกะลาบา … ภาษาพม่า แปลว่า “สวัสดี” โปรแกรมทัวร์ของเราวันนี้มีหลายที่ที่แรกที่จะพาไปก็คือ วัดพระมหามุนี พระมหามุนีเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องกษัตริย์ หน้าตกกว้าง 9 ฟุต สูง 12 ฟุต หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงามและศักดิ์สิทธิ์เลื่องลือไปไกล จนเป็นที่หมายปองของกษัตริย์พม่าในอดีตมาหลายยุคหลานสมัย ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์ของชาวยะไข่แห่งเมืองธัญญวดี โปรดฯให้สร้างพระมหามัยมุนี ขึ้นในปี พ.ศ.689 หรือเกือบสองพันปีมาแล้ว เหตุเพราะพระพุทธเจ้าเสด็จมาเข้าพระสุบินประทานพรแก่พระเจ้าจันทสุริยะ ให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นเพื่อเชิดชูพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง แต่เนื่องจากว่ามีขนาดใหญ่จึงต้องหล่อแยกเป็นชิ้นแล้วจึงนำมาประสานกันได้สนิทจนไม่เห็นรอยต่อเป็นที่น่าอัศจรรย์ เชื่อกันว่าเป็นด้วยพรของพระศาสดาประทานไว้ ความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหามุนีเลื่องลือไปไกล จึงเป็นที่หมายปองของกษัตริย์พม่านับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธาแห่งอาณาจักรพุกาม บุเรงนองมหาราชแห่งหงสาวดี และอลองพญามหาราชแห่งรัตนปุระอังวะ ล้วนเพียรพยายามยกทัพไปชะลอพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานเพื่อเป็นศิริมงคลแห่งดินแดนพม่าทุกยุคทุกสมัย แต่ต้องล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะความทุรกันดารของเส้นทางที่เต็มไปด้วยแม่น้ำและภูเขาสูง จนกระทั่งประสบความสำเร็จในสมัยพระเจ้าปดุง ก็สามารถนำเอาพระมหามุนีมาไว้ที่กรุงมัณฑะเลย์เมื่อปี พ.ศ.2327 ในปัจจุบันชาวพม่ายังเรียกพระมหามุนีอีกชื่อหนึ่งว่า “พระยะไข่”

ด้วยความศรัทธาว่าพระมหามุนีเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการล้างพระพักตร์ให้องค์พระทุกๆเช้ามืด เหมือนกับคนที่ต้องล้างหน้าแปรงฟันทุกเช้า โดยมีเจ้าอาวาสของวัด ทำพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีทุกวันตั้งแต่ราวตีสี่ครึ่ง โดยมีน้ำผสมเครื่องหอมทำจากเปลือกไม้ “ทะนาคา” ซึ่งชาวบ้านฝนมาถวายทุกเช้า หลังจากเสร็จพิธีการล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีแล้ว อนุญาตให้เฉพาะผู้ชายขึ้นไปปิดทองที่องค์พระได้ ส่วนผู้หญิงต้องฝากแผ่นทองผู้ชายขึ้นไปปิดทองค่ะ

พระมหามันมุนี ณ มัณฑะเลย์

มาต่อกันที่ วัดมหากันดายง ตั้งอยู่ริมทะเลสาบตองตะมาน เป็นวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดของพม่า มีภิกษุและสามเณรมาศึกษาเล่าเรียนทางธรรมกว่า 1,200 คน วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้เป็นสถานที่ศึกษาพระธรรมและรักษาพระธรรมวินัยมากที่สุด ด้วยวัตรปฏิบัติอันงดงามของภิกษุสงฆ์ในวัดมหากันดายง ทำให้มีชาวพม่าจำนวนมากส่งบุตรหลานมาศึกษาพุทธศาสนากันที่นี่ และผู้มีจิตศรัทธาจองคิวกันนำภัตตาหารมาถวายพระทั้ง 1,200 รูปไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ดำรงอยู่ได้ และเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของเมืองอมรปุระ ซึ่งในช่วงเพลจะมีภิกษุสงฆ์นับพันรูปเดินเรียงแถวด้วยความสำรวมมาฉันเพล เป็นภาพที่หาชมได้ยาก ทำให้มีนักท่องเที่ยวไปรอชมภาพก่อนเวลาฉันเพลเป็นจำนวนมากค่ะ

วัดมหากันดายง

ใกล้ๆกับวัดมาหากันดายง ก็จะมี สะพานไม้อูเป็ง (U Bein Bridge) เป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาว 1.6 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองอมรปุระ ไม้ที่นำมาสร้างสะพานอูเป็งเป็นไม้ที่เหลือจากการรื้อถอนและย้ายพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะมายังอมรปุระ ส่วนชื่อสะพานตั้งตามชื่อของ นายพลอูเป็ง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างตามพระประสงค์ของพระเจ้าปดุง (กษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา) โดยสะพานนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ข้ามทะเลสาบตองตะมาน (Toungthamon) ที่เชื่อมระหว่างเมืองอมรปุระกับอังวะ มีอายุกว่า 200 ปี ให้ชาวบ้านได้เดินข้ามทะเลสาบได้อย่างสะดวก เส้นทางความยาวกว่า 1.6 กิโลเมตร จะมีศาลา 5 ที่ไว้คอยให้นั่งพัก หลบแดด หรือชมวิวทะเลสาบ ตามแนวสะพานก็จะมีชาวบ้านนำของมาขายบ้างก็เป็นผลไม้ ขนมพื้นเมือง กระเป๋าที่ทำด้วยเม็ดกระถินและเม็ดแตงโม ร้านขายผ้าถุงและโสร่ง รวมไปถึงร้านอาหารที่อยู่ริมทะเลสาบแห่งนี้ คอยให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อเป็นของฝาก ของที่ระลึกด้วยค่ะ

สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก สะพานไม้อูเป็ง

ถึงเวลาของอาหารกลางวัน มื้อนี้เราจะพาไปทานอาหารไทย ในมัณฑะเลย์กันค่ะ เป็นร้านอาหารไทย และมีกุ๊กคนไทยฝีมือดีอยู่ที่นั่น รสชาติอาหารอร่อยไม่แพ้กับทานที่บ้านเราเลยค่ะ ร้านนี้ก็คือ ร้านต้มยำกุ้ง

ร้านอาหารไทยในมัณฑะเลย์ ร้านต้มยำกุ้ง

หลังจากอิ่มทองกันแล้วก็เที่ยวต่อกันที่ พระตำหนักไม้สักชเวนานจอง (Golden Palace Monastry) วังที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง งดงาตามแบบศิลปะ พม่าแท้ๆ วิจิตรตระการด้วยลวดลายแกะสลักประณีตอ่อนช้อย ทั้งหลังคา บานประตู และหน้าต่าง โดยเน้นรายละเอียดเกี่ยวกับพุทธประวัติและทศชาติของพระพุทธเจ้า วังหลังนี้สร้างโดยพระเจ้ามินดงในปี พ.ศ.2400 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ย้ายราชธานีจากอมรปุระมาอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ เพื่อยกตำหนักยามแปรพระราชฐาน แต่หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ พระเจ้าธีบอ หรือ สีป่อ พระโอรสก็ทรงยกวังนี้ถวายเป็นวัด และย้ายออกมาตั้งอยู่นอกเขตพระราชวังมัณฑะเลย์ทำให้พระราชวังแห่งนี้หลงเหลืออยู่ไม่ถูกทำลายไปจากการทิ้งระเบิด โดยมีเจ้าอาวาสวัดข้างๆเป็นผู้ดูแล ซึ่งก็ทำการบูรณะแต่เพียงภายนอกบางส่วนเท่านั้น แต่ภายในยังคงเดิมทุกประการ สังเกตไม้กระดานและเสาแต่ละต้นล้วนขนาดใหญ่โต พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก ลายสลักบนแผ่นไม้สักและลายประดับกระจก ถือได้ว่าเป็นงานฝีมือที่ประณีตของช่างหลวงชาวมัณฑะเลย์อย่างแท้จริง

พระตำหนักไม้สักชเวนานจอง

พระราชวังมัณฑะเลย์ (Mandalay Palace) เป็นพระราชวังสุดท้ายที่ถูกสร้างขึ้นในประเทศพม่า โดยถูกสร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1857-1859 โดยพระเจ้ามินดงแห่งราชวงศ์มินของพม่า และยังเป็นผู้สร้างราชธานีมัณฑะเลย์ เป็นราชธานีสุดท้ายก่อนพม่าจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม พระเจ้ามินดงได้เลือกใช้สไตล์การออกแบบพระราชวังตามศิลปะพม่าแบบดั้งเดิม คือ การสร้างวังด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มีลักษณะเป็นโถงกว้างชั้นเดียวที่มีเสาหลายต้นประดับด้วยภาพไม้แกะสลักที่ประณีตงดงาม ทั้งนี้พระราชวังมัณฑะเลย์ได้ถูกขนานนามว่าเป็นพระราชวังไม้สักที่สวยงามที่สุดในโลก แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ตัวพระราชวังดั้งเดิมได้ถูกเผาทำลายลงจากการที่เมืองมัณฑะเลย์ต้องผ่านปัญหาสงครามและการแย่งชิงอำนาจหลายครั้งหลายคราทั้งจากภายในประเทศและนอกประเทศ

พระราชวังมัณฑะเลย์ (Mandalay Palace)

จากนั้นเราออกเดินทาง สู่ท่าเรือริมน้ำอิระวดี เพื่อข้ามไปชมหมู่บ้านมิงกุน ใช้เวลาล่องเรือ ประมาณ 45 นาทีค่ะ

ล่องเรือแม่น้ำอิรวดี

พอขึ้นเรือมาแล้วจุดแรกที่เราไปเยี่ยมชม คือ เจดีย์พญาเธียรดาน เจดีย์องค์นี้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1816 โดยพระเจ้าปะจีดอ เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าโบ่ดอพญา สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่มีต่อพระชายาพระนามว่า “ฉิ่นปหยู่มยี” ด้วยเหตุนี้เจดีย์ถึงได้รับสมญานามว่า ทัชมาฮาลแห่งลุ่มแม่น้ำอิรวดี งานสถาปัตยกรรมที่ปรากฏนั้น สร้างตามหลักภูมิจักรวาลตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเอาเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยสร้างฐานเจดีย์ลดหลั่นกันไป 7 ชั้น รางระเบียงทำเป็นคลื่นไล่ขึ้นไปหาสถูปองค์กลางทีละชั้น ส่วนห้องคูหาบนสุดขององค์พระเจดีย์ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีเจดีย์จุฬามณีตั้งอยู่บนยอดเขา และรายล้อมเทือกเขาทั้ง 7 เจดีย์แห่งนี้ก็ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวขึ้นในปี ค.ศ.1838 แต่ได้รับการบูรณะแล้ว จึงมีความสวยงามและสมบูรณ์ให้ได้ชมกันค่ะ

เจดีย์พญาเธียรดาน

ระฆังยักษ์มิงกุน มีตำนานเล่าว่า พระเจ้าโบ่ดอพญาทรงโปรดให้หล่อระฆังมิงกุนขึ้นในปี ค.ศ.1808 ด้วยน้ำหนักถึง 90 ตัน สูง 3.70 เมตร ปากระฆังงมีความกว้าง 5 เมตร เพื่อให้คู่ควรกับเจดีย์มิงกุน ทันทีที่สร้างเสร็จ พระเจ้าโบ่ดอพญาทรงรับสั่งให้ประหารชีวิต ช่างที่ช่วยกันหล่อระฆัง เพื่อป้องกันไม่ให้ใครสร้างเลียนแบบ หรือสร้างซ้ำ จะได้เป็นงานศิลป์เพียงหนึ่งเดียวในโลก ไม่เหมือนใคร เดิมทีตัวระฆังนั้นตั้งอยู่ตรงเจดีย์ป่งดอ แต่หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในปี ค.ศ.1838 จนทำให้คานแขวนพังลงมา จึงย้ายมายังที่ตั้งในปัจจุบัน ระฆังมิงกุนถือเป็นระฆังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะระฆังที่พระราชวังเครมลิน ในกรุงมอสโก ที่ใหญ่กว่าได้แตกไปแล้ว ระฆังมิงกุนจึงเป็นความภูมิใจของชาวพม่าอย่างมาก

ระฆังยักษ์มิงกุน

เจดีย์มิงกุน หรือ เจดีย์จักรพรรดิ พระเจ้าปดุงมีพระราชดำริจะสร้างเจดีย์มิงกุนที่ใหญ่ที่สุดและสูงกว่าเจดีย์ใดๆในสุวรรณภูมิเพื่อประดิษฐาน “พระทันตธาตุ” ที่ได้มาจากพระเจ้ากรุงจีน โดยทรงมุ่งหวังให้ยิ่งใหญ่เทียบเท่ามหาเจดีย์ในพุกาม และใหญ่โตโอฬารกว่า “พระปฐมเจดีย์” ในสยามประเทศ ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในสุวรรณภูมิ งานก่อสร้างเจดีย์ดำเนินไปได้เพียง 7 ปีเท่านั้น พระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคตหลังจากที่ทรงพ่ายแพ้ไทยในศึก 9 ทัพ ส่วนมหาเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ตามความมุ่งหวังของพระองค์จึงเสร็จเพียงแค่ฐาน ถึงกระนั้นก็ยังสูงถึง 50 เมตรส่วนรอยแตกร้าวที่ฐาน เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวในปี ค.ศ.1838 หากพระเจดีย์สร้างเสร็จตามแผน คงจะเป็นเจดีย์ที่ใหญ่อลังการที่สุดและสูงที่สุดในโลกค่ะ

เจดีย์มิงกุน

ล่องเรือแม่น้ำอิรวดีกลับสู่เมืองมัณฑะเลย์ พร้อมชมพระอาทิตย์ตกค่ะ

ทัวร์พม่า


บทความที่เกี่ยวข้อง